ปฎิทินกิจกรรม การบำรุง ดูแล อินทผลัมผลสดในประเทศไทย
มกราคม
เริ่มต้นปีที่สำคัญมากๆ ด้วยการ ตัดแต่งก้านใบเก่า ๆ ด้านล่าง ของทรงพุ่มออก (ก้านที่ตาย เหี่ยว) ตลอดจนก้านผล ก้านช่อดอกเก่า จากปีที่แล้ว ออกให้หมด ตัดแต่ง เงี่ยงหนามแหลมออกจากก้านใบ เพื่อรอเตรียมการผสมเกษรในเดือนถัดไป โดยใช้ มีดขอ กรรไกรตัดกิ่ง เลื่อย และต้องมั่นใจว่า สวมใส่ชุดรัดกุม ถุงมือ เสื้อแขนยาวหนา เพื่อป้องกันเงี่ยงหนามอันแหลมคมทิ่งแทงเอาได้ ตรวจสอบระบบชลประทาน ระบบน้ำ ท่อน้ำต่างๆให้พร้อม ต้องมีอ่างเพียงพอหรือเขื่อนรอบลำต้นเพื่อให้แน่ใจว่า การให้น้ำเพียงพอที่จะอยู่ในพื้นที่โซนรากรอบ ๆ รัศมีใต้ต้น ช่วงเดือนนี้ทั้งเดือน เป็นช่วงที่ต้นอินทผลัมจะสะสมอาหาร สร้างตาดอก น้ำมีความจำเป็นต้องให้อย่างสม่ำเสมอ (อาทิตย์ละครั้ง) และ ผสมปุ๋ยอัตราส่วน 1-3-3-1 (ไนโตรเจน N ,ฟอสฟอรัส P,โพแทสเซียม K , แมกนีเซียม Mg) หรือปุ๋ยสูตร 8-24-24 ถ้าเป็นเขตฝนมาก เช่นภาคใต้ ควรให้ปุ๋ยสูตร 0-46-60 และงดการให้น้ำ ซึ่งจะต้องให้มาตั้งแต่เดือน ธันวาคม ก่อนหน้ามาแล้วจนถึงเดือนมกราคม
กุมภาพันธ์
งานของเดือนมกราคม บางครั้งอาจยาวมาถึงเดือนนี้ การให้น้ำยังคงสม่ำเสมอตลอดหน้าแล้ง ครึ่งแรกของเดือน อินทผลัมจะเริ่มแทงจั้นขึ้นมาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ต้นตัวผู้จะทยอยแทงจั่นออกมาก่อน ต้นตัวเมียประมาณ 7 - 15 วัน การให้ปุ๋ยยังคงเน้นปุ๋ยสะสมอาหาร สูตร 8-24-24 และเพิ่ม แมกนีเซี่ยม เข้าไปด้วยเพื่อความสมบูรณ์ของช่อดอก ใส่ปุ๋ยคอกให้น้อยลง เพื่อลดไนโตรเจนในการสร้างลำต้น เมื่อช่อดอกตัวผู้แตกกาบ ควรตัดและเคาะเก็บเกษร(ฝุ่นสปอร์)ไว้ในตู้เย็น ปราศจากความชื้น เกษรตัวผู้จะมีลักษณะเป็นแป้งฝุ่นสีครีมขาว กลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายดอกพิกุลเล็กๆ ดอกตัวเมียจะมีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ สีไข่มุก เท่าหัวไม้ขีด ช่วงครึ่งหลังของเดือนนี้ จะป็นช่วงผสมเกษรตลอดจนถึงต้นเดือนมีนาคม ทำการผสมเกษรช่วงสายๆ ความชื้นจะต่ำ ลมไม่แรง ต้องผสมหลังจากช่อดอกตัวเมียแตกกาบ ไม่เกิน 2 วัน ในระหว่างผสมเกษร ควรตัดแต่งช่อตัวเมีย เพื่อให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพดี ผลโตใหญ่ ตรวจสอบด้วงแรด ตามซอกกาบใบ เพราะถ้ามีด้วงแรดกัดเจาะ จะโดนก้านช่อดอกเสียหาย
มีนาคม
เดือนนี้ยังคงต้องทำงานผสมเกษรคาบเกี่ยวมาจากเดือนที่แล้วตลอดครึ่งเดือนมีนาคม ครึ่งเดือนแรกจะเป็นช่วงที่ ช่อดอกตัวผู้และช่อดอกตัวเมียส่วนใหญ่ แตกกาบมาพร้อมๆกัน เราสามารถผสมเกษรด้วยการผสมสด คือตัดช่อดอกตัวผู้มา แบ่งเป็นช่อเล็กๆ แล้วนำมาเคาะใส่ช่อตัวเมียได้เลย และ เหน็บไว้กลางช่อดอกตัวเมีย ใช้ใบมัดช่อไว้ ผึ้งแมลง จะช่วยทำการผสมต่อไป ช่วงครึ่งหลังของเดือน ช่อดอกตัวผู้เริ่มจะแตกกาบออกมาหมดแล้ว แต่ช่อดอกตัวเมียยังคง ทยอยแตกกาบออกมาเป็นชุดท้ายๆ การผสมเกษรในระยะนี้จะต้องใช้เกษรตัวผู้ที่เก็บไว้ในช่วงแรกมาใช้ในการผสมเกษร หรือที่เรียกว่า การผสมแห้ง โดยการนำแปรงทางที พู่กัน มาจุ่มในผงแป้งเกษรที่เก็บไว้ แล้วนำไปเคาะใส่ช่อดอกตัวเมีย ช่อดอกที่ผสมแล้ว ก้านช่อจะเขียว และยืดยาวขึ้นเรื่อยๆ การให้น้ำยังคงสม่ำเสมอเหมือนเดิม
เมษายน
ผลอ่อน ที่ได้รับการผสมเกษรจะพัฒนาโตขึ้นเรื่อยๆ สีเขียวเข้ม ผลที่ได้กรับการผสมไม่สมบูรณ์ จะร่วงหลุดออกไป ครึ่งหลังของเดือนจะเป็นช่วงตัดแต่งผลเล็กๆ ออก(Thinning) เพื่อให้ได้ผลที่โตใหญ่มีคุณภาพ การปลิดผลทิ้ง ต้องทำตอนที่ขนาดผลโตประมาณเม็ดถั่งลิสง ในช่อผล หรือทะลายที่สมบูรณ์ (ต้นอายุ 5 ปีขึ้นไป)จะมีก้านผลเป็นเส้นๆ ควรตัดแต่งออกให้เหลือ 35 ก้าน(เส้น) ต่อทะลาย โดยเลือกตัดก้าน เล็กๆ ผอมที่ปลายทะลายออก เหลือก้านที่โคนทะลายที่แข็งแรงไว้ ในหนึ่งก้าน ควรปลิดผลออกให้เหลือ 15-20 ผล แต่ละผลห่างกัน ประมาณ 1 นิ้ว จะดูบางตา ผลที่เหลือจะได้รับน้ำเลี้ยงสารอาหารจากต้นที่สมบูรณ์ พัฒนาการโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การให้น้ำยังคงสม่ำเสมอเหมือนเดิม
ครึ่งหลังของเดือนนี้ตลอดจนถึงเดือนพฤษภาคม ยังเป็นช่วงที่เหมาะสมในการแยกหน่อ จากต้นแม่ออกมาเพื่อลดการแย่งอาหารจากต้นแม่ที่กำลังให้ผลผลิต หน่อที่เหมาะสมในการแยก ควรมีอายุหน่ออย่างน้อย 1.5 ปีขึ้นไป หรือมีเส้นผ่านศูนย์กลางฐานโคน 6-8 นิ้ว มัดผูกใบของหน่อให้แน่น และตัดส่วนปลายใบทิ้ง เพื่อลดการสูญเสียน้ำจากใบ ใช้ค้อนขนาดใหญ่ ชะแลงแบน หรือเสียมที่แหลมคม ตัดส่วนเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อระหว่างต้นแม่และหน่อ ต้องให้แน่ใจว่าหน่อนั้นมีรากติดมาด้วย นำหน่อมาทำความสะอาด ตัดกาบเก่า รากเก่าออก นำทั้งต้นหน่อชุบน้ำยากันเชื้อรา และ น้ำยาเร่งราก และชำไว้ในที่ร่มรำไร ให้มั่นใจว่ารากเดินดีแล้วก็นำไปลงแปลงปลูกได้ต่อไป
พฤษภาคม
เป็นเดือนที่ดีที่สุดเพื่อตัดก้านดอกที่ไม่ผสมเกษรไม่สมบูรณ์ออก เพื่อลดการดึงสารอาหาร ไปเลี้ยงช่อโดยไร้ประโยชน์ จัดระเบียบช่อ ให้ไปในทางเดียวกันป้องกันผลเกี่ยวกันกัน มัดก้านช่อทะลายกับก้านใบให้มั่นคง เพราะช่อทะลายจะมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ช่อทะลาย และก้านใบจะโอนเอนตามลมไปด้วยกัน ช่วงนี้ อาจให้ปุ๋ยอาหารธาตุรองทางใบ
มิถุนายน
เป็นช่วงที่ผลอินทผลัมเริ่มเปลี่ยนสี จากผลอ่อนไปเป็นผลแก่จากสีเขียวเป็นสีแดงหรือสีเหลือง สีเขียวผลอ่อน เป็นช่วงพัฒนาการที่เรียกว่า Kimri Stage ช่วงพัฒนาเปลี่ยนสีแดงหรือสีเหลืองเป็นที่รู้จักกัน Khalal Stage ในช่วงเปลี่ยนสีนี้จะต้องคลุมช่อทะลายด้วยถุงตาข่ายพลาสติกตาเล็กๆ เพื่อป้องกันความเสียหายจากนก แมลง กระรอก ถุงอาจจะทำจากวัสดุที่มีรูพรุนเช่นวัสดุผ้าใบชนิดที่มีน้ำหนักเบาหรือผ้า หรืออาจจะทำจากกระดาษกันน้ำที่มีปลายล่างเปิด วัสดุถุงที่ใช้คลุมนี้ การคลุมต้องคำนึงถึงการไหลเวียนของอาการที่ดี ป้องกันความร้อนส่วนเกินในช่อทะลาย จะทำให้ผลเน่าเสีย เป็นเชื้อราได้ง่าย
ช่วงนี้ ควรฉีดยาป้องกันเชื้อรา ที่อาจจะเกิดกับผล จำพวกราดำ แอนแทรคโนส(Anthracnose)
ช่วงครึ่งแรกของเดือน ผลอินทผลัมในช่อทะลายจะเริ่มสีเข้มเหลือง หรือแดงเต็มที่ในช่วง Khalal (ผลสด) ประมาณ 5% ของผลในช่อทะลายจะเริ่มสุกงอม ผลช้ำๆจากปลายผล เราควรที่จะเก็บผลเหล่านี้มาทำตลาดได้ก่อนในช่วงแรก โดยการ เขย่า ช่อทะลายให้ผลสุกร่วง ลงมาลงสู่ภาชนะรองรับ ซึ่งอาจจะต้องเก็บทุกวัน จนกว่าผลส่วนใหญ่จะตัดออกไปทั้งช่อทะลาย ถ้าปล่อยไว้อยู่ที่ช่อทะลาย ผลก็จะเกิดเป็นเชื้อราเน่าเสีย ช่วงครึ่งหลังของเดือน ผลสดส่วนใหญ่ 60% จะถึงกำหนดแก่จัดตัดออกมาสู่ท้องตลาด
สิงหาคม
ช่วงต้นๆเดือนอินทผลัมประเภททานสด เช่น Barhi , KL1(แม่โจ้ 36) ส่วนใหญ่จะถูกตัดออกมาจากช่อสู่ท้องตลาด ผลที่สุกอาจจะส่งขายตามขลาดอยู่บ้าง แต่ต้องอยู่ในห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิ หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ถ้าต้องการจะเก็บผลสดไว้ทานได้นาน ต้องเก็บแช่แข็ง สามารถเก็บข้ามปีได้
กันยายน-ตุลาคม
หลังจากการเก็บเกี่ยว ต้นอินทผลัมจะโทรม หลังจากที่เลี้ยงลูกมายาวนาน ต้องให้ปุ๋ยคอก และปุ๋ยสูตร 25-7-7 ผสมกัน เพื่อบำรุงราก และลำต้นให้ฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ควรดูแลกำจัดเรื่องหญ้า วัชพืช ปกคลุมโคนต้น แมลง หนูกัดกินราก ด้วงกินยอด
พฤศจิกายน, ธันวาคม
ฝนเริ่มน้อยลง เข้าฤดูหนาว เป็นช่วงที่ต้นอินทผลัมจะเริ่มสะสมอาหาร เปิดตาดอก ควรให้น้ำสม่ำเสมอ (อาทิตย์ละครั้ง) ให้ปุ๋ยคอก และ ช่วยด้วยปุ๋ยสูตร 8-24-24 หรือ 0-46-60 ใบของอินทผลัมจะเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเข้ม เป็น สีเขียวเงินๆ นวลๆ ตรวจสอบด้วงแรด ตามซอกกาบ ตรวจสอบด้วงงวงช้างที่กินเนื้อเยื่อภายในลำต้น โดยใช้หูแนบฟังที่ลำต้น ถ้ามีตัวอ่อนด้วงงวงช้างกัดกินอยู่ จะ ได้ยินเสียงกัดกินอยู่ชัดเจน
อ้างอิง ภาพบางภาพจากอินเตอร์เนต
ขอบคุณครับ ^__^.
ตอบลบขอบคุณค่ะ
ตอบลบ