วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การปลูกและการดูแลรักษาอินทผลัม

           อินทผลัมเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในลักษณะอากาศร้อนแห้ง แล้งยาวนาน แสงแดดยาวนานตลอดวัน อากาศถ่ายเทได้ดี จะเจริญเติบโตได้ล่าช่าถ้าอยู่ในที่ร่มรำไร จะไม่เจริญเติบโตยในที่ร่มไม่มีแสงแดด   อินทผลัมจะเจริญเติบโตได้ตั้งแต่อุณหภูมิ 7°C เป็นต้นไป โดยมีอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดที่ในการเจริญเติบโตของต้นอยู่ที่ 32°C ถึง 37°C ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 40°C อัตราการเจริญเติบโตของอินทผลัมจะเริ่มลดลง      อินทผลัมสามารถทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้ แต่ระยะเวลาต้องไม่นานจนเกินไป ถ้ามีอุณหภูมิต่ำกว่า 3°C จะหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราว อินทผลัมสามารถทนทานต่ออากาศแห้งแล้งได้ดีเป็นระยะเวลานาน  แต่อินทผลัมก็ต้องการน้ำในการสร้างตาดอก ในการให้ผลผลิตที่ดี จึงจำเป็นที่จะต้องให้น้ำในฤดูหนาว และ ฤดูแล้งในบ้่านเรา  ดินที่เหมาะสมคือดินร่วนปนทราย ดินที่อุดมสมบูรณ์ที่พอสมควร (โดยส่วนใหญ่ในประเทศไทยดินไม่ค่อยมีปัญหาในการปลูกอินทผลัม) มีน้ำให้ได้ในฤดูแล้งสม่ำเสมอ เพื่อคุณภาพของผลผลิตที่ดี
        อินทผลัมเป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีดอกตัวเมียและดอกตัวผู้แยกอยู่กันคนละต้น การปลูกอินทผลัมในแปลงจึงต้องมีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียเพื่อการผสมเกษร ให้ติดผลได้อย่างสมบูรณ์มีคุณภาพดี อัตราส่วนต้นตัวผู้ และ ต้นตัวเมียที่เหมาะสมเพียงพอกับการผสมเกษร คือ ต้นตัวผู้ 1 ต้น ต่อ ต้นตัวเมีย 3-4 ต้น  ในทางปฎิบัติจริงจะเหมาะสมที่สุด  



การขยายพันธุ์อินทผลัม

        การขยายพันธุ์อินทผลัมสามารถทำได้ 3 วิธี คือ 
                 1. จากการเพาะเม็ด 
                 2. จากการแยกหน่อจากต้นแม่
                 3. จากเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 



     
การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเม็ด

         การขยายพันธุ์จากการเพาะเม็ด ปัจจุปันไม่เป็นที่นิยมใช้กันในเชิงพานิชย์เชิงฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่เพื่อผลิตผลที่มีคุณภาพ นิยมใช้วิธีนี้สำหรับขุดล้อมต้นขายเป็นปาร์มประดับมากกว่า
ต้นกล้าจากการเพาะเม็ด

    ข้อดี    
             - ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ต้นทุนต่ำ เจริญเติบโตได้ดี 
    ข้อเสีย  
             - ไม่รู้เพศ ว่าเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย อินทผลัมเป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ การขยายพันธุ์จากการเพาะเม็ดจึงไม่สามารถ บอกได้ว่าต้นไหนเพศผู้ ต้นไหนเพศเมีย และโดยปกติอัตราส่วนต้นเพศผู้ต่อเพศเมีย อยู่ที่ประมาณ 50:50 จึงอาจจะทำให้ได้ต้นตัวผู้ที่มีมากเกินจำเป็นในสวน ต้นตัวผู้ที่เหมาะสมเพียงพอในสวนควรมีประมาณ 25% ก็เพียงพอ
              - ต้นที่เกิดขึ้นมาจะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันไป บางต้นอาจจะโตช้า โตเร็ว ผลโต ลักษณะทางกายภาพ จะแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ขนาดผล สีสัน รสชาติ ฝาดมาก หวานมาก หวานน้อย  จะไม่เหมือนกันทั้งหมด ควบคุมการให้ผลผลิตได้ยาก แต่ละต้นจึง ต้องตั้งชื่อเฉพาะของต้นนั้นๆ ซ้ำกันไม่ได้ 
                ดังนั้นการปลูกด้วยวิธีนี้ จึงเหมาะกับการปลูกที่ลดต้นทุน และพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมา ใช้เวลาในการปลูกกว่าจะให้ผลผลิต ประมาณ 3 ขึ้นไป  


การขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ 

         การขยายพันธุ์จากการแยกหน่อปลูก เป็นการขนายพันธุ์ที่นิยมใช้กันมาช้านาน  จนถึงปัจจุบัน ทั้งการขยายแปลงปลูก การค้าต้นพันธุ์ อินทผลัมเมื่อต้นอายุ 2 ปีขึ้นไปจะเริ่มสร้างหน่อ แขนงขึ้นมา รอบๆต้น มี 2 ประเภท คือหน่อดิน และ หน่ออากาศ ทั้งสองประเภทสามารถแยกขยายไปปลูกต่อได้ คล้ายๆแยกหน่อกล้วย





    ข้อดี    
             - หน่อที่แยกออกมาจะมีพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ทุกประการ ทั้งทางกายภาพ และ พันธุกรรม (เหมือนต้นแม่ทุกประการ )
             - รู้เพศชัดเจน หน่อที่แยกมาจากต้นแม่ที่เป็นเพศอะไร หน่อก็จะเป็นเพศนั้น 
             - ผลผลิตที่ได้จะเหมือนกันทุกต้น ชื้อพันธุ์สามารถใช้ชื่อเดียวกันได้ ควบคุมคุณภาพได้ง่าย
             - ให้ผลผลิตได้เร็ว เพราะหน่อที่แยกมาเป็นต้นที่โต พอสมควร เมื่อฟื้นตัวสมบูรณ์ จะสามารถให้ผลผลิตได้เลย 

    ข้อเสีย  
             - ราคาหน่อจะสูง ต้นทุนในการปลูกจะสูงตามไปด้วย เพราะหน่อที่ออกมามีจำนวนจำกัด ไม่พอเพียงกับความต้องการ 
             - ต้องดูแลเอาใจใส่ในระยะแยกที่เพิ่งแยกหน่อมาปลูก เพราะจะเกิดเป็นเชื้อรา รากเน่าโคนเน่าได้ง่าย 

การขยายพันธุ์ด้วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

         การขยายพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยใช้หน่อจากต้นแม่พันธ์ พันธุ์แท้(พันธุ์ที่เป็นที่ยอมรับเป็นสากล) มาทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นต้นกล้าคุณภาพขึ้นมาที่เป็นทางเลือกที่แก้ปัญหาจาก การเพาะเม็ด และ การแยกหน่อ เหมาะกับการขยายพันธุ์ เชิงคุณภาพได้อย่างดียิ่ง  




กล้าพันธุ์จาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ภาพจาก D.P.D. Ltd. (Date Palm Developments) http://www.date-palm.co.uk/



    ข้อดี    
             - ได้ต้นที่เกิดขึ้น พันธุกรรมจะเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ (เหมือนการแยกหน่อ)
             - รู้เพศชัดเจน เป็นต้นเพศเมีย 100% ไม่มีการกลายพันธุ์ 
             - สายพันธุ์ที่ได้เป็นสายพันธุ์มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอยู่แล้ว  
             - ผลผลิตที่ได้จะเหมือนกันทุกต้น ชื้อพันธุ์สามารถใช้ชื่อเดียวกันได้ ควบคุมคุณภาพได้ง่าย
             
    ข้อเสีย  
             - ราคายังคงสูงอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถผลิตได้ในภูมิภาคอาเซี่ยน  



การปลูกอินทผลัม 

               การเตรียมพื้นที่ปลูกอินทผลัม ปัจจัยแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ พื้นที่ต้องได้รับแสงแดดตลอดวัน ปลอดโปล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีแหล่งน้ำที่สามารถให้น้ำได้ในหน้าแล้ง ระยะห่างสำหรับการปลูกอินทผลัมที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับ การจัดการในสวนนั้นๆ ถ้าปลูกในพื้นที่ไม่มาก เพราะอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยานภาหนะ สิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไป ก็อาจจะปลูกในระยะ 6x6 เมตร 6x7 เมตร แต่รัยะที่แนะนำและเหมาะสมสวยงามในการปลูกคือ ระยะ 7x7 , 7x8 , 8x8 เมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในตะละสวนนั้นๆ ถ้าปลูกในระยะที่แคบๆ จะมีผลต่อการเจริญเติบโตที่ดีบ้างเนื่องจากการได้รับแสงที่ลดน้อยลงไป ซึ่งแสงแดดมีผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของต้นอินทผลัม  จึงทำให้พื้นที่ 1 ไร่สามารถปลูกได้ตั้งแต่ 25 ต้น ขึ้นไป จนถึง 40 ต้น โดยขึ้นอยู่กับระยะการปลูก ..ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ปลูกควรต้องคำนึงถึง ระยะการปลูกที่เหมาะสม เพราะอินทผลัมเป็นพืชที่อายุยืนยาวมากกว่า 100 ปี เมื่อปลูกไปแล้วจะแก้ไข ปรับพื้นที่ได้ลำบาก อินทผลัมจะให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 5-8 ปีขึ้นไป และสามารถจะให้ผลผลิตได้เต็มที่ถึงต้นละมากกว่า 200 กิโลกรัมต่อปีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วย
             

ระยะการปลูกอินทผลัม
ภาพจาก อินเตอร์เนต
การเตรียมหลุมปลูก

                ขนาดหลุมที่ขุดเพื่อปลูกอินทผลัม บางครั้งต้องคำนึงถึงสภาพดินที่จะปลูกด้วยว่า มีแร่ธาตุ สารอาหารอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงไร ถ้าสภาพดินที่เลวร้าย มีสารอาหารน้อยสังเกตุจากพื้นที่ขึ้นอยู่ข้างเคียง ความอ่อนนุ่มของพื้นดิน ควรขุดหลุมปลูกให้ลึก และกว้างพอสมควร อาจจะต้องใช้เคื่องมือช่วยขุดหลุม เช่น รถขุด รถแม๊คโครขนาดเล็ก หรือสว่าน สำหรับขุดหลุม แต่ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุยดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้อง ขุดหลุมลึก หรือโตมากก็สามารถปลูกได้ด้วยเช่นกัน ขนาดหลุมที่แนะนำคือ ขนาด 80x80x80 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ประมาณ 1 ถังสี  แล้วกลบด้วยดินที่ขุดขึ้นมา ทำให้เป็นเนินกระทะคว่ำ สูงจากพื้นราบปกติ ประมาณ 10 - 15 ซม.(เพื่อเมื่อปลูกไประยะหนึ่ง ดินจะยุบเสมอกับพื้นเดิมปกติ) แล้วนำต้นกล้า ลงปลูกได้เลย ให้กระปุกโคนต้นกล้า อยู่เสมอพอดีกับหน้าดิน ทำคันดินกันน้ำล้นออกจากบริเวณหลุม รอบๆต้นที่ปลูก เส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม. แล้วรดน้ำให้น้ำขังรอบๆคันดินที่ทำไว้  เมื่อผ่านไป  1 เดือนให้ใส่ปุ๋ยคอกบริเวณ รอบๆอ่างดินที่ทำไว้ สิงที่สำคัญที่ทำให้ต้นเจริญเติบโตได้ดีคือแสงแดดตลอดวัน หลีกเลี่ยงการปลูกในที่ร่มรำไร ใต้ร่มไม้  ฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกอินทผลัมคือช่วงต้นฤดูฝน แต่ถ้าสามารถติดตั้งระบบการให้น้ำในสวนได้ ก็สามารถที่จะปลูกอินทผลัมได้ทุกฤดูกาล 
การขุดหลุมปลูก


สว่านขุดหลุมแบบมือ

สว่านขุดหลุมแบบ ติดหางรถไถ



กลบหลุม หลังจากใส่ปุ๋ยคอก รองก้นหลุม






ทำคันดินกันน้ำ

การให้น้ำในบริเวณคันดิน

การทำอ่างดินบริเวณโคนต้นเพื่อให้ปุ๋ย ให้น้ำ

การให้น้ำ

                อินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำพอสมควร โดยเฉพาะในฤดูแล้งในบ้านเรา เมื่อต้นอินทผลัมอายุได้ สามปีขึ้นไป จะเริ่มให้ผลผลิต เดือนธันวาคม มกราคม และจะเริ่มสร้างตาดอกภายในซอกรักแร้กาบภายในลำต้น เป็นช่วงที่จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย เดือนละ  3 ครั้ง  หรืออาทิตย์ละครั้ง จะทำให้ต้นอินทผลัมรวบรอมสารอาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างตาดอกที่สมบูรณ์ หลังจากนั้นจะเข้าหน้าแล้ง และต้องให้น้ำต่อเนื่องสม่ำเสมอ ต่อเนื่องไปจนตลอดหน้าแล้ง ถึงเดือน มิถุนายน จนกว่าจะเข้าฤดูฝน ก็หยุดให้น้ำได้ หรือพิจรารณาตามความเหมาะสมจากสภาพอากาศ ไม่ควรปล่อยให้ต้นขาดน้ำยาวนานจนเกินไปนัก ในการเริ่มปลูกใหม่ ควรปลูกต้นฤดูฝน และให้น้ำสม่ำเสมอ อาทิตละ  2-3 ครั้ง  ควรเดินระบบน้ำ แบบท่อ PE ขนาด 16 - 25 mm. จากท่อเมนท์หลัก พาดไปที่โคนต้น ตามแถวที่ปลูกทุกๆต้น  แล้วติดหัวปล่อยน้ำ ที่โคนต้นอินทผลัม เมื่อถึงเวลาให้น้ำก็เปิดวาล์ว น้ำที่เมนท์หลัก จะทำห้ทุกๆต้นได้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ต้นจะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง 
เดินระบบน้ำ

การใส่ปุ๋ย

               การให้ปุ๋ยควรให้ปุ๋ยคอก เป็นหลักปีละ 4 ครั้ง หรือ 3เดือน ต่อครั้ง รอบๆโคนต้นที่ทำวงอ่างน้ำไว้ และเสริมด้วยปุ๋ยอาหารธาตุเสริมปีละ  2 ครั้ง และพรวนดิน กำจัดวัชพืช รอบๆบริเวณต้น  เมื่อต้นเริมให้ผลผลิต ในระยะติดผล ควรเสริมปุ๋ยทางใบ เพื่อบำรุงผล ขั้วเหนียว ปรับสภาพผิวของผล 



การกำจัดวัชพืช

                อินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการแสงแดด  และอากาศปลอดโปล่งถ่ายเทสะดวกตลอดวัน ดังนั้นไม่ควรมีวัชพืชขึ้นปกคลุมต้น หรือ โคนต้นโดยเฉพาะฤดูฝน วัชพืชจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก และจะปกคลุมต้นในต้นที่ยังไม่สูง จะทำให้ต้นอินทผลัมเจริญเติบโตช้ามาก หรืออาจจะทำให้มีแมลง หนู ด้วง ในดินต่างๆ ทำรัง กัดกินโคน รากได้ จึงควรหมั่นทำความสะอาดโคนให้ปลอดโปล่ง สะอาดอยู่เสมอ 


การตัดแต่งใบ 

                การตัดแต่งก้านใบเก่าของอินทผลัม  ก้านใบเก่าที่ตัดทิ้งควรจะตัดออกให้ติดกับตัวลำต้นมากที่สุด เพราะจะทำให้ลำต้นของอินทผลัมจะโต อวบใหญ่  ถ้าตัดก้านใบสูง มากเท่าไหร่ การเจริญเติบโตของลำต้นจะลดลง ต้นเล็ก เรียวสูง เพราะน้ำเลี้ยง สารอาหารต่างๆที่ต้นนำมาใช้จะยังคงเลี้ยงก้านเก่าที่ยาวออกไปนั้นอยู่ จะสังเกตุได้ว่า ก้านเก่าที่ตัดทิ้งจะเขียวไปอีก2-5 ปีทีเดียว จึงทำให้ลำต้นเล็กกว่าต้นที่ตัดก้านถึงโคนกาบใบ ความสมบูรณ์ของต้นจะต่างกัน ซึ่งจะมีผลถึงการให้ผลผลิตด้วย 
                  การตัดใบเก่าปกติ จะตัดปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือน มกราคม หรือช่วงที่ต้นอินทผลัมเริ่มแทงจั่นออกมา ตลอดจน ตัดหนาม (เงี่ยงแหม) ทิ้ง เพื่อเตรียมการผสมเกษร การตัดใบเก่า ต้องตัดเฉพาะก้านใบด้านล่างเท่านั้น ให้ก้านใบยังคงแผ่ออกไปกว้างรอบๆต้น ไม่ควรตัดก้านใบด้านข้างรอบๆต้นออก เพราะต้นจะเหลือใบน้อนเกินไปในการผสมเกษร 


การตัดก้านใบให้ชิดลำต้น และให้เหลือก้านใบบนต้นตามภาพ

ตัดก้านใบยาวเกินไป



ตัดหนามทิ้ง 
การผสมเกสร




            การผสมเกษรแบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือ
                  1. การผสมสด..คือการนำช่อดอกตัวผู้ที่เพิ่งแตกจากกาบใหม่ ฉีกแบ่งเอาก้านเล็ก ๆ  4-8 ก้าน (ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของช่อตัวผู้) นำมาทำการเคาะใส่ช่อดอกตัวเมียโดยตรง ..แล้วสอดเหน็บไว้กลางช่อดอกตัวเมีย แล้วฉีกใบอินทผลัมมาผูกมัดที่ปลายช่อไว้ห่างปลายช่อ ประมาณ 10 ซม. เพือไม่ให้ก้านช่อตัวเมียบานออก แมลง ผึ้งจะเข้ามาหาเกษรตัวผู้ที่อยู่ภายใน แล้วช่วยผสมต่ออีกครั้ง (กรณีนี้เหมาะกับการที่มีช่อดอกตัวผู้เพียงพอ)
                 2. การผสมแห้ง..คือการนำช่อดอกตัวผู้เคาะเก็บสปอร์ผงเกษรไว้ในภาชนะที่มิดชิดป้องกันความชื้น เก็บไว้ที่อุณหภูมิ 2-7 องศา เพื่อเก็บไว้ผสม กับช่อดอกตัวเมีย ในกรณีที่มีต้นตัวผู้น้อย หรือ บางครั้งจั่นตัวเมียที่แทงหลงๆ ออกมาปลายฤดูจะไม่มีเกษรตัวผู้ผสม ใช้ แปรงทาสีใหม่ๆ ขนาด 1-2" จุ่มที่ผงเกษรที่เตรียมไว้ แล้วสลัด เคาะใส่ช่อดอกตัวเมีย ไม่จำเป็นต้องมัดปลายช่อตัวเมียครับ
*** ถ้าต้องการเพิ่มปริมาณฝุ่นสปอร์เกษร ให้ใช้แป้งมัน แป้งสาลี (ที่ละเอียดขนาดเท่าๆกับสปอร์เกษรตัวผู้) ผสมกัน อัตราส่วน 1:1 เคล้าให้เข้ากัน ก็สามารถเพิ่มปริมาณ ฝุ่น เป็นตัวนำการยึดเกาะได้ดีที่ช่อดอกต้วเมีย ผึ้ง จะช่วยนำผสมต่ออีกที















การผสมเกษร 



























































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น